วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

โรคราน้ำค้าง (Downy mildew)

โรคราน้ำค้าง ทำลายยอด และช่อดอกองุ่น

โรคขององุ่น

โรคราน้ำค้างนับว่าเป็นโรคที่สำคัญที่สุด สำหรับการปลูกองุ่นในบ้านเรา เป็นโรคที่ระบาดรุนแรงทำความเสียหายให้แก่ผลผลิตอย่างมาก โรคราน้ำค้างเกิดจากเชื้อรา PLasmopara viticola สามารถระบาดได้ทั้งปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝนจะระบาดอย่างรุนแรง เพราะความชื้นในอากาศมีสูง ซึ่งโรคนี้จะเกิดได้กับส่วนต่างๆ ของต้นองุ่นทั้งใบ ช่อ ดอก ยอดอ่อน เถา และช่อผล อาการของต้นองุ่นที่เกิดโรคนี้จะสังเกตได้ง่ายๆ คือ

อาการที่ช่อดอก: ช่อดอกที่รับเชื้อจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือเป็นหย่อมๆ อีก 2-3 วัน ต่อมาจะเห็นเชื้อราสีขาวขึ้นที่ ช่อดอกเห็นได้ชัด ช่อดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้งติดเถา โดยช่อดอกอาจแห้งจากโคนช่อ ปลายช่อ หรือกลางช่อก็ได้

อาการบนใบองุ่น: ใบที่ถูกโรคทำลายในระยะแรกจะเห็นเพียงจุดเล็กๆ สีเหลืองปนเขียวทางด้านบนของใบ ต่อมาจะขยายเป็นแผลโตขึ้นขนาดของรอยแผลไม่แน่นอน ในระยะนี้ถ้าดูด้านล่างของใบตรงที่เป็นแผลจะพบเชื้อราสีขาวอยู่เป็นกลุ่มเห็นได้ชัด ซึ่งตรงกลุ่มนี้เองจะมีส่วนขยายพันธุ์สามารถที่จะเจริญแพร่ระบาดติดต่อไปยังใบอื่นๆ หรือแปลงอื่นๆ โดยปลิวไปกับลม อาการของโรคจะสังเกตได้ก็ต่อเมื่อเชื้อราเข้าทำลายแล้ว 4 - 6 วัน

อาการที่เถาหรือที่มือเกาะ: อาการที่มือเกาะหรือที่หนวดนั้นเริ่มจากมือเกาะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนเขียว และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแห้งติดเถา สำหรับอาการที่เถาองุ่นผิว เปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล มองเห็นเชื้อราสีขาวตรงกลางแผลได้ชัดเจนทำให้ยอดองุ่นแคระแกร็น

อาการที่ยอดอ่อน: ยอดอ่อนที่ถูกโรคราน้ำค้างเข้าทำลายจะแคระแกร็น ยอดสั้น มีเชื้อราสีขาวขึ้นปกคลุมยอดเห็นได้ชัดเจน ยอดอ่อนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และแห้งตายในที่สุด
อาการที่ช่อผล: จะเกิดกับผลอ่อนขององุ่น โดยครั้งแรกจะมีลักษณะเป็นจุดหรือลายทางๆ สีน้ำตาลที่ผล เมื่อผลองุ่นเริ่มแห้งเปลือกผลจะเหี่ยวและเปลี่ยนเป็นสีเทาปนสีน้ำเงิน หรือน้ำตาลแก่ ถ้าเป็นมากผลจะเหี่ยวหมดทั้งช่อ

วิธีป้องกันโรคราน้ำค้าง

โรคขององุ่น

1. หลังจากที่ต้นองุ่นแตกกิ่งใบใหม่แล้ว ควรจัดแต่งกิ่งเถาขององุ่นให้กระจายทั่วๆ ค้าง เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกันมาก กิ่งองุ่นที่ไม่ต้องการก็ให้ตัดแต่งออกให้โล่งโปร่ง โดยไม่ให้กิ่งห้อยย้อยลงจากค้าง ซึ่งจะช่วยให้อากาศถ่ายเทสะดวกจะช่วยลดความชื้นลง และช่วยลดการระบาดของโรคได้อีกด้วย


2. หมั่นทำความสะอาดสวนองุ่นอย่าให้รกรุงรัง โดยเฉพาะกิ่งต่างๆ รวมทั้งใบองุ่นที่ตัดออกจากต้น ให้นำไปเผาทำลายเสีย อย่าปล่อยทิ้งไว้ในสวนเพราะจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคต่างๆ ได้

โรคแอนแทรคโนส หรือโรคผลเน่า

โรคแอนแทรคโนส หรือโรคผลเน่า

โรคองุ่น

โรคองุ่นชนิดนี้เกิดจากเชื้อรา Colletotricchum gloeosporioides
ซึ่งจะทำให้ผลองุ่นเน่าเสีย ชาวบ้านมักเรียกว่า "โรคอีบุบ หรือ โรคลุกบุบ" เพราะองุ่นที่เป็นโรคชนิดนี้จะเป็นแผลลึกลงไปในเนื้อและเน่าเสียหาย โรคนี้เป็นโรคที่ระบาดอย่างช้าๆ แต่ก็รุนแรงและรักษายาก บางท้องที่บางฤดูก็เป็นปัญหาสำหรับการปลูกองุ่นมากเช่นกัน โรคชนิดนี้นอกจากจะเป็นที่ผลขององุ่นแล้ว ยังเป็นกับเถาและใบอีกด้วย โดยเชื้อราสามารถแพร่ระบาดไปกับลมและน้ำได้ ปกติแล้วโรคแอนแทรคโนสนี้จะระบาดทำความเสียหายกับทุกส่วนขององุ่น โดยเฉพาะส่วนที่ยังอ่อนอยู่ เช่น ยอดอ่อน กิ่งอ่อน ใบอ่อน ส่วนที่ผลก็เป็นโรคได้ ทั้งในระยะผลอ่อนจนถึงระยะผลโต
โรคผลเน่าที่เกิดกับองุ่น

อาการขององุ่นที่เกิดโรคแอนแทรคโนส

อาการที่ผล: โรคนี้สามารถเข้าทำลายผลองุ่นได้ทุกขนาด ตั้งแต่เล็กจนโต ในผลอ่อนที่เป็นโรคนี้ จะเห็นจุดสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม และบุ๋มลงไปเล็กน้อย ขอบแผลสีเข้ม ถ้าอากาศชื้นๆ จะเห็นจุดสีชมพู สีส้มตรงกลางแผล ส่วนในผลองุ่นแก่จะเห็นบริเวณเน่าเป็นสีน้ำตาล มีจุดสีชมพู สีส้ม เกิดขึ้นบริเวณตรงกลางแผลเต็มไปหมด ถ้าโรคยังคงเป็นต่อไป จะทำให้ผลองุ่นแห้ง เปลือกเหี่ยว ผลติดกับช่อไม่ร่วงหล่น เมื่อโดนน้ำหรือน้ำค้าง เชื้อโรคก็ระบาดจากผลที่เป็นแผลไปยังผลอื่นๆ ในช่อจนกระทั่งเน่าเสียหมดทั้งช่อ

อาการที่ใบ: องุ่นที่เป็นโรคนี้ จะเห็นที่ใบเป็นจุดเล็กๆ สีน้ำตาลเป็นแผลมีรูปร่างไม่แน่นอน ตรงกลางแผลมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม ถ้าอากาศแห้งตรงที่เป็นแผลจะหลุดหายไป ทำให้ใบเป็นรู บางครั้งใบก็ม้วนงอลงมาด้านล่างแต่ไม่ร่วงในทันที ใบองุ่นที่เป็นโรคจะไม่เติบโตต่อไปเมื่อเป็นโรคมากขึ้นใบจะร่วง

อาการที่ยอดอ่อน: ยอดอ่อนขององุ่นจะเป็นจุดเล็กๆ สีน้ำตาลเข้ม ต่อมาขอบแผลจะขยายออกตามความยาวของกิ่งคือ รอยแผลหัวแหลมท้ายแหลม ขอบแผลเป็นสีน้ำตาลแก่ถึงสีดำ กลางแผลสีดำขรุขระ ในฤดูฝนอากาศมีความชื้นมาก จะเห็นเป็นจุดเล็กๆ สีชมพูอยู่ตรงกลางแผล ถ้าเป็นแผลมากๆ ยอดจะแคระแกร็น มีการแตกยอดอ่อนมาก แต่แตกออกมาแล้วแคระแกร็น ใบที่แตกออกมาใหม่นี้ก็จะมีขนาดเล็กสีซีดผิดปกติและจะแห้งตายในที่สุด

วิธีป้องกันกำจัด

1. เมื่อพบว่าองุ่นเป็นโรคให้ตัดส่วนที่เป็นโรคออกก่อน แล้วจึงฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา
2. ทำความสะอาดสวนองุ่น ด้วยการเก็บกวาดกิ่งใบองุ่นที่ตกอยู่ใต้ต้นไปเผาทิ้งหรือฝังดินให้หมดเพราะส่วนต่างๆ เหล่านี้เป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคได้
3. ตัดแต่งองุ่นกิ่งให้โล่งโปร่งอยู่เสมอ จะช่วยลดปัญหาได้อย่างมากเลยทีเดียว

4. ควรหมั่นพ่นสารสกัดชีวภาพ ที่หมักจากสมุนไพรไล่แมลงตามธรรมชาติเป็นระยะ ก็สามารถป้องกันได้

โรคราแป้ง

โรคราแป้ง (Powdery mildew) ทำลายทุกส่วนของต้นองุ่น

ศัตรูองุ่น
สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Oidium tuckeri

โรคราแป้ง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "โรคขี้เถ้า" เป็นโรคที่ระบาดรุนแรงอีกโรคหนึ่ง มักระบาดมากในช่วงอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง คือ หลังฤดูฝน และในฤดูหนาวเท่านั้น จะเข้าทำลายทุกส่วนของต้นองุ่น ลักษณะอาการที่เห็นได้ชัดคือ

โรคราแป้ง
อาการที่ใบองุ่น: ด้านบนของใบองุ่นจะเห็นเป็นหย่อมๆ หรือทั่วไปบนใบ ต่อมาผงสีขาวจะเปลี่ยนเป็นสีเทาและดำ บริเวณใบที่ถูกเชื้อราเข้าทำลายจะมีสีเหลืองอ่อนในระยะแรก ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือดำ ถ้าเป็นโรคมากๆ จะทำให้ใบองุ่นม้วนงอได้

อาการที่ดอกองุ่น: ถ้าเชื้อราชนิดนี้ทำลายในขณะที่องุ่นยังเป็นดอก จะทำให้เหี่ยวแห้งติดกับกิ่ง

อาการที่ผลองุ่น: พบว่าระบาดทั้งผลอ่อนจนถึงผลแก่ขององุ่น จะเห็นผลขาวบนผลต่อมา เนื้อผิวของผลองุ่นที่ถูกทำลาย จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลบางครั้งผลจะแตกจนเห็นเมล็ด

อาการที่กิ่งอ่อน: จะทำให้กิ่งองุ่นแห้งตายไปหรือแคระแกร็นไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร

วิธีป้องกันกำจัดโรคราแป้ง

1. ตัดกิ่ง ใบหรือผลองุ่นที่เป็นโรคเผาทำลาย เพื่อมิให้เชื้อโรคแพร่ขยายไปยังส่วนอื่น

2. พ่นด้วยสารชีวภาพ (สูตรป้องกันโรคแมลง) ที่หมักจากสมุนไพรธรรมชาติ

วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การทำค้างองุ่น

การทำค้างองุ่น

ค้างองุ่น

ในการทำค้างองุ่น จะทำหลังจากที่ปลูกองุ่นแล้วประมาณ 1 ปี ซึ่งต้นองุ่นจะสูงพอดีที่จะขึ้นค้างได้ ค้างต้นองุ่นมีหลายแบบด้วยกัน แต่แบบที่นิยมกันมากคือ ค้างแบบเสาคู่แล้วใช้ลวดขึง มีวิธีการและขั้นตอน ดังนี้การเลือกเสาค้าง เสาค้างอาจใช้เสาซีเมนต์หน้า 3 นิ้ว หรือ 4 นิ้วก็ได้ เสาค้างซีเมนต์จะแข็งแรงทนทานอยู่ได้นานหลายปี แต่มีราคาแพงและหนัก เวลาทำค้างต้องเสียแรงงงานมาก ถ้าใช้เสาไม้ให้ใช้ไม้เนื้อแข็งขนาดหน้า 2x3 นิ้ว หรือหน้า 2 x 4 นิ้ว หรือเสากลมก็ได้ เสาควรยาวประมาณ 2.5-3 เมตร หรือยาวกว่านี้ ซึ่งเมื่อปักลงดินเรียบร้อยแล้ว ให้เหลือส่วนที่อยู่เหนือดินประมาณ 1.50 เมตร

การทำค้างองุ่น
การปักเสา

ให้ปักเป็นคู่ 2 ข้างของแปลงองุ่น ในแนวเดียวกัน โดยให้เสาห่างกัน 2 เมตร และเมื่อติดคานแล้ว ให้เหลือหัวไม้ยื่นออกไปทั้งสองข้าง ๆละ 50 เซนติเมตร ถ้าปักเสาห่างกัน 3 เมตร เมื่อติดคานบนแล้วจะพอดีหัวไม้ การติดคานเชื่อมระหว่างเสาแต่ละคู่ให้ใช้น๊อตเป็นตัวยึด ไม่ควรยึดด้วยตะปูเพราะจะไม่แข็งแรงพอ ระยะห่างระหว่างเสาแต่ละคู่ประมาณ 10 - 20 เมตร ยิ่งปักเสาถี่จะยิ่งแข็งแรงทนทานแต่ก็สิ้นเปลืองมากบางแห่งจึงปักเสาเพียง 3 คู่ คือ หัวแปลง กลางแปลง และท้ายแปลง และระหว่างเสาแต่ละคู่ให้ค้างไม้รวกช่วยค้ำไว้เป็นระยะๆ ซึ่งก็สามารถใช้ได้และประหยัดดีแต่ต้องคอยเปลี่ยนค้างไม้รวกบ่อย

การขึงลวด


สำหรับลวดที่ใช้ทำค้างองุ่น ให้ใช้ลวดขนาดใหญ่พอสมควรคือ ลวดเบอร์ 11 ซึ่งลวดเบอร์ 11 หนัก 1 กิโลกรัม จะยาวประมาณ 18 เมตร ให้ขึงลวดพาดไปตามคานแต่ละคู่ตลอดความยาวของแปลง โดยใช้ลวด 4 - 6 เส้น เว้นระยะลวดให้ห่างเท่าๆ กัน ที่หัวแปลงและท้ายแปลงให้ใช้หลักไม้ขนาดใหญ่ตอกฝังลงไปในดินให้แน่น แล้วใช้ลวดโยงจากค้างมามัดไว้ที่หลักนี้เพื่อให้ลวดตึง หลังจากขึงลวดเสร็จแล้วให้ตรวจดูว่าลวดหย่อนตกท้องช้างหรือไม่ ถ้าหย่อนมากให้ใช้ไม้รวกขนาดใหญ่ปักเป็นคู่ตามแนวเสาค้าง แล้วใช้ไม้รวกอีกอันหนึ่งพาดขวางผูกด้านบนในลักษณะเดียวกับค้าง เพื่อช่วยรับน้ำหนักเป็นระยะๆ ไปตลอดทั้งแปลง เพราะเมื่อต้นองุ่นขึ้นค้างจนเต็มแล้วจะมีน้ำหนักมากจำเป็นต้องช่วยรองรับน้ำหนักหรือค้ำยันไว้ไม่ให้ค้างหย่อน

การปลูกและการดูแลรักษาสวนองุ่น

การปลูกและการดูแลรักษาสวนองุ่น

เตรียมพื้นที่ปลูกองุ่น

การปลูกองุ่นแบ่งตามลักษณะพื้นที่ได้ 2 ลักษณะ คือ พื้นที่ลุ่มซึ่งน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำมาก เช่น แถบที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ มักเป็นที่นาเก่า การปลูกองุ่นในที่แบบนี้จึงต้องยกร่องก่อน ส่วนอีกลักษณะหนึ่งคือการปลูกในพื้นที่ดอน ทีสูงน้ำท่วมไม่ถึง การเตรียมดินปลูกแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันออกไป ดังนี้

การปลูกองุ่นแบบยกร่อง

เตรียมพื้นที่โดยการยกร่องให้แปลงมีขนาดกว้าง 6 เมตร ความยาวร่องแล้วแต่ขนาดของพื้นที่ ส่วนความสูงของร่องให้สังเกตจากปริมาณน้ำที่เคยท่วมสูงสุด โดยให้อยู่สูงกว่าแนวระดับน้ำท่วม 50 เซนติเมตร ขนาดร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร ก้นร่องน้ำกว้าง 0.5-0.7 เมตร การปลูกควรปลูกแถวเดียวตรงกลางแปลง เว้นระยะระหว่างหลุมให้ห่างกัน 3-3.50 เมตร ในการปลูกองุ่นแบบยกร่อง สำหรับการปลูกในที่ดอนควรไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืชและทำให้ดินร่วนซุย ใช้ระยะปลูก 3 x 4 - 3.50 x 5 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน มีขั้นตอนดังนี้คือ

1. ควรขุดหลุมปลูกให้มีขนาด กว้าง x ยาว x ลึก ประมาณ 50 x 50 x 50 เซนติเมตร

2. ผสมดินปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก และปุ๋ยร๊อคฟอสเฟตเข้าด้วยกัน รองพื้นหลุมให้สูงประมาณ 2 ใน 3 ของ
หลุม

3. ยกถุงกล้าต้นองุ่นวางในหลุม โดยให้ระดับของดินในถุงสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย ใช้มีดที่คมกรีดจากก้นขึ้นมาถึงปากถุงทั้ง 2 ด้าน (ซ้ายและขวา) แล้วดึงถุงพลาสติกออก และต้องระวังไม่ให้ตุ้มดินแตก วางลงหลุมปลูกด้วยความระมัดระวัง

4. กลบดินที่เหลือลงไปในหลุม

5. กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่นพอประมาณ

6. ปักไม้หลักและผูกเชือกยึด เพื่อป้องกันลมพัดโยก


7. คลุมดินบริเวณโคนต้นองุ่น ด้วยฟางข้าว หรือเศษหญ้าแห้ง เสร็จแล้วรดน้ำให้ชุมโชก หลังจากนั้นก็ทำร่มเงา เพื่อช่วยพรางแสงแดดให้ต้นกล้าองุ่นเป็นอันเสร็จ

เพลี้ยไฟ

เพลี้ยไฟ: ดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนขององุ่น

ศัตรูองุ่น

เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็ก ลักษณะการทำลายจะใช้ปากเขี่ยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดใบอ่อนของต้นองุ่น ทำให้ยอดใบอ่อนหักงอ ใบแห้งกรอบไม่เจริญเติบโตและตายในที่สุด ถ้าทำลายระยะดอกทำให้ดอกร่วงไม่เกิดผลหรือทำให้ผลมีตำหนิ พบการระบาดตั้งแต่หลังจากตัดกิ่งจนถึงผลโตเต็มที่ เนื่องจากองุ่นมีการแตกยอดตลอดทั้งปี
 
เพลี้ยไฟตัวทำลายยอดองุ่น
วิธีป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ

ศัตรูองุ่น

- ให้ฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นในพุ่มองุ่นให้ชุ่มอยู่เสมอ จะทำให้การระบาดลดลง เพราะเพลี้ยไฟไม่ชอบความชื้นสูง

- ผู้ปลูกองุ่นควรหมั่นตรวจดูเพลี้ยไฟตามยอดใบอ่อน ช่อดอกหรือผลอ่อนเป็นประจำ ถ้าพบเป็นรอยกร้านสีน้ำตาลควรรีบป้องกันกำจัดทันที

- ฉีดพ่นสารเคมีกลุ่มคาร์โบซัลแฟน เช่น พอสซ์ พ่นให้ทั่วต้น 2 ครั้งห่างกัน 7 วัน


แต่ถึงอย่างไร การกำจัดแมลงหรือศัตรูองุ่นด้วยสารเคมีต่างๆ ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อตัวเอง คนรอบข้าง และสภาพแวดล้อมด้วยนะครับ ทางที่ดีขอแนะนำให้ใช้สารชีวภาพที่สกัดจากสมุนไพรไล่แมลงในธรรมชาติดีกว่า ซึ่งจะปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคอีกด้วยครับ

หนอนเจาะสมอฝ้าย

หนอนเจาะสมอฝ้าย : กัดกินดอกและเมล็ดองุ่น

ศัตรูองุ่น

หนอนเจาะสมอฝ้าย : จะทำลายองุ่นโดยกัดกินส่วนดอกและเมล็ดภายในผลองุ่น ตั้งแต่ระยะติดดอกจนถึงดอกบาน จะพบช่อดอกถูกกัดกินเป็นแถบและระยะช่อผลอ่อนอายุระหว่าง 10-14 วัน หลังจากดอกบานแล้วจะเจาะกินเมล็ดภายในจนหมด และย้ายไปกัดกินผลอื่นต่อไป ผลที่ถูกทำลายจะเป็นรู หนอน 1 ตัวยังสามารถทำลายได้หลายช่อดอกโดยเฉพาะช่อดอกที่อยู่ใกล้เคียงกันกันได้หลายช่อ หนอนชนิดนี้เมื่อโตเต็มวัยจะกลายเป็นผีเสื้อกลางคืน ขนาดกลาง ซึ่งตัวผีเสื้อจะซ่อนอยู่ตามใบแก่ขององุ่น

หนอนเจาะสมอฝ้าย 
วิธีป้องกันกำจัดหนอนเจาะสมอฝ้าย

ศัตรูองุ่น

- ในระยะที่องุ่นติดดอกและผลอ่อน ผู้ปลุกควรหมั่นตรวจดูช่อองุ่น เมื่อพบหนอนหรือตัวผีเสื้อ ควรจับทิ้งทำลายเสีย เพื่อไม่ให้ลุกลามไปช่ออื่น

- ใช้เชื้อไวรัส NPV ของหนอนเจาะสมอฝ้ายโดยเฉพาะ ทำการฉีดพ่นเช่นเดียวกับหนอนกระทู้หอม

- ฉีดพ่นสารเคมีกลุ่มคาร์โบซัลเฟน เช่น พอสซ์ อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร


แต่ถึงอย่างไร การกำจัดแมลงหรือศัตรูองุ่นด้วยสารเคมีต่างๆ ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อตัวเอง คนรอบข้าง และสภาพแวดล้อมด้วยนะครับ ทางที่ดีขอแนะนำให้ใช้สารชีวภาพที่สกัดจากสมุนไพรไล่แมลงในธรรมชาติดีกว่า ซึ่งจะปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคอีกด้วยครับ

หนอนกระทู้หอม

หนอนกระทู้หอม : แมลงศัตรูขององุ่น

ศัตรูองุ่น
หนอนกระทู้หอม : เป็นศัตรูองุ่นที่มีความสำคัญมากชนิดหนึ่ง ชาวสวนองุ่นมักเรียกว่า "หนอนหนังเหนียว" หนอนชนิดนี้จะทำความเสียหายต่อทุกส่วนขององุ่นทั้งใบ ดอก ผลและยอดที่จะเจริญไปเป็นดอกและผลในฤดูถัดไป หนอนกระทู้หอมตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กวางไข่เป็นกลุ่ม 20 - 80 ฟอง บริเวณด้านหลังใบ ไข่ปกคลุมด้วยขนสีขาวหนอนวัยอ่อนจะแทะผิวใบพรุนเป็นร่างแหทำให้ใบแห้งตายและเมื่อหนอนโตเต็มที่จะกัดกินใบอ่อน ช่อดอกหรือผลอ่อนขององุ่นเสียหาย

หนอนกระทู้หอม
วิธีป้องกันกำจัดหนอนกระทู้หอม ทำได้หลายวิธี ดังนี้

ศัตรูองุ่น

- ใช้กับดักแสงไฟ (Black light) หรือกาวดักเหนียวเพื่อดักผีเสื้อทั้งตัวผู้ตัวเมีย ก่อนจะขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไป โดยวางไว้ในสวนองุ่นโดยเฉพาะช่วงตัดแต่งกิ่งและยอดอ่อนเริ่มแตกออกมา

- โดยการใช้เชื้อไวรัส NPV ของหนอนกระทู้หอม ฉีดพ่นเมื่อพบตัวหนอนบนใบองุ่น หนอนที่มากัดกินใบจะได้รับเชื้อไวรัสทำให้เป็นโรค Grassarie one และตายภายใน 1 - 2 วัน

- โดยการใช้เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ชูริงเจนซิล (Bacillus Thuringicnsis) ใช้ชื่อการค้า เช่น แบคโทสปิน เอชดับบลิวพี, ฟลอร์แบค เอฟซี สำหรับหนอนกระทู้หอม

- ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกลุ่มคาร์บาเมท เช่น เมทโธมิล 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารกลุ่มยับยั้งการเจริญเติบโต เช่น ปูโพรเฟซิน 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อระงับการลอกคราบของตัวหนอนกระทู้


แต่ถึงอย่างไรการกำจัดแมลงหรือศัตรูองุ่นด้วยสารเคมีต่างๆ ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อตัวเอง คนรอบข้าง และสภาพแวดล้อมด้วยนะครับ ทางที่ดีขอแนะนำให้ใช้สารชีวภาพที่สกัดจากสมุนไพรไล่แมลงในธรรมชาติดีกว่า ซึ่งจะปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคอีกด้วยครับ

การพักตัวของต้นองุ่น

การพักตัวของต้นองุ่น

การพักตัวขององุ่น ช่วยเพิ่มผลผลิต

หลังจากที่เกษตรกรผู้ปลูกองุ่น ทำการเก็บเกี่ยวผลองุ่นหมดทั้งแปลงแล้ว จะต้องปล่อยให้ต้นองุ่นพักตัวระยะหนึ่งก่อน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน เพื่อให้ต้นองุ่นได้สะสมธาตุอาหารต่างๆ ไว้ในต้น เพื่อกักตุนไว้ใช้สำหรับออกดอกและผลิตผลในครั้งต่อไป และในช่วงที่ต้นองุ่นพักตัวอยู่นั้น ผู้ปลูกไม่จำเป็นต้องทำอะไรมากนัก เพียงให้น้ำเป็นครั้งคราวเพื่อไม่ให้ดินแห้งเกินไปก็พอ การพักตัวของต้นองุ่นนับว่าเป็นช่วงที่สำคัญซึ่งจะมีผลต่อการออกดอกในครั้งต่อไปมาก ถ้าให้ต้นพักตัวน้อยหรือในช่วงเวลาที่สั้นๆ ผลผลิตครั้งต่อไปก็จะน้อยลงตามไปด้วย อีกทั้งต้นองุ่นก็จะโทรมเร็วอีกด้วย ระยะเวลาในการพักตัวก็แตกต่างกันออกไปตามพันธุ์ เช่น องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา ควรให้พักตัว 1 - 2 เดือน ส่วนองุ่นพันธุ์คาร์ดินัลให้พักตัวน้อยกว่านี้ได้ แต่ไม่ควรต่ำกว่า 15 - 20 วัน เป็นต้น และเมื่อต้นองุ่นได้พักตัวเต็มที่จะสังเกตได้จากกิ่งองุ่นช่วงสุดท้าย (คือช่วงที่ตัดผลออกไปแล้ว) เป็นสีน้ำตาลใบแก่จัด ใบกรอบก็สามารถตัดแต่งครั้งต่อไปหรือที่เรียกว่า " มีดสอง " ได้อีก โดยก่อนการตัดแต่งให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับครั้งแรก หรือ " มีดแรก " คืองดให้น้ำอย่างน้อย 7 วัน แล้วจึงตัดแต่งกิ่ง หลังจากนั้นก็รดน้ำ ให้ปุ๋ย เช่นเดียวกับครั้งแรก โดยให้ปุ๋ยเพิ่มมากขึ้น เพราะต้นองุ่นจะเจริญเติบโตขึ้นทุกปี ในการตัดแต่งครั้งต่อไปก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน หมุนเวียนอยู่เช่นนี้ตลอดไป

ตัดแต่งองุ่นควบคุมการออกผล


จะเห็นว่าจุดสำคัญที่จะทำให้องุ่นออกดอก คือ การพักตัวของต้นและการตัดแต่งกิ่ง ดังนั้น จึงสามารถคำนวณระยะเวลาให้องุ่นออกดอกตอนไหนก็ได้ หรือจะให้ผลแก่ช่วงไหนก็ได้แล้วแต่ความต้องการของผู้ปลูก จึงทำให้มีองุ่นขายในท้องตลาดตลอดทั้งปี ผู้ปลูกองุ่นหลายรายเจาะจงที่จะให้องุ่นของตนแก่และเก็บเกี่ยวผลได้ในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น ปีใหม่ตรุษจีน เป็นต้น ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดต้องการองุ่นมากทำให้ได้ราคาดี แต่ก็มีหลายรายที่พ่อค้าจะเป็นผู้กำหนดว่าสวนใครควรจะตัดแต่งช่วงไหนเพื่อให้พ่อค้าประจำมีองุ่นส่งตลาดได้ทั้งปี จะเห็นว่าการที่สามารถบังคับให้องุ่นออกผลตามที่ต้องการเป็นข้อได้เปรียบในเชิงการค้าประการหนึ่ง ซึ่งการปลูกในเขตเมืองหนาวไม่สามารถทำเช่นนี้ได้

วิธีสังเกตผลองุ่น

การสังเกตผลที่แก่จัดขององุ่น

สำหรับองุ่นที่ปลูกอยู่ในแปลงเดียวกันจะแก่ไม่พร้อมกัน การเก็บองุ่นจำเป็นต้องเก็บหลายๆครั้ง โดยเลือกเก็บเฉพาะช่อที่แก่เต็มที่ก่อน และทยอยเก็บไปเรื่อยๆ จนหมด ในการเก็บองุ่นจะใช้กรรไกรตัดที่ขั้วผล แล้วบรรจุลงเข่งหรือลังไม้ที่บุหรือรองด้วยกระดาษห่อฝอยหรือใบตองที่เตรียมไว้ เพื่อป้องกันการชอกช้ำในขณะเคลื่อนย้ายหรือขนส่ง และในการขนส่งก็ควรทำด้วยความระมัดระวังอย่าให้ชอกช้ำมาก และไม่ควรนำเข่งที่บรรจุผลองุ่นวางซ้อนกัน เพราะจะทำให้ผลองุ่นได้รับความเสียหายได้

การสังเกตผลแก่ขององุ่น
หลักในการสังเกตผลแก่ขององุ่น

ผลองุ่นที่แก่จัดจะสังเกตได้หลายอย่าง เช่น

- การนับอายุ: ซึ่งจะนับตั้งแต่ตัดแต่งจนถึงแก่จัดซึ่งจะแตกต่างกันไปแล้วแต่พันธุ์ เช่น พันธุ์คาร์ดินัล จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน พันธุ์ไวท์มะละกา ประมาณ 3 - 3 เดือนครึ่ง อย่างไรก็ตามการกำหนดการแก่ของผลโดยการนับอายุตั้งแต่ตัดแต่งนี้มีข้อสังเกตบางประการ เช่น ผลองุ่นที่ใช้ฮอร์โมนจะสุกเร็วกว่าผลที่ไม่ใช้ฮอร์โมนหลายวัน และฤดูกาลก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เช่น ฤดูแล้ง ผลจะสุกเร็วกว่าฤดูฝน เป็นต้น จึงต้องใช้อย่างอื่นประกอบด้วย เช่น สีของผลที่แก่จัดจะเปลี่ยนจากสีเขียว (องุ่นทุกพันธุ์ในระยะที่ผลยังเล็กอยู่จะเป็นสีเขียว)

- สังเกตลักษณะสีตามสายพันธุ์: เช่น พันธุ์ไวท์มะละกา เมื่อแก่จัดเป็นสีเหลืองอ่อนหรือเหลือง ส่วน
พันธุ์คาร์ดินัลเป็นสีม่วงดำหรือแดงอมดำ เป็นต้น

- ความหวาน: อาจสังเกตได้จากความหวานของผล โดยการทดลองชิมดูหรืออาจใช้เครื่องวัดเปอร์เซ็นต์ความหวาน (เครื่องวัดปริมาณน้ำตาล)

- สังเกตขั้วช่อผล: การสังเกตดูจากขั้วช่อผลเช่น ถ้าผลแก่จัด ขั้วของช่อผลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลเป็นต้น


ดังนั้นการเก็บผลองุ่นที่แก่จัดควรอาศัยเทคนิคหลายๆ อย่างประกอบกันเพื่อให้แน่ใจและที่สำคัญอย่างยิ่ง คือเกษตรกรผู้ปลูกองุ่นควรงดการให้น้ำแก่ต้นองุ่นสักระยะหนึ่งก่อนการตัดผลเพื่อให้ผลองุ่นมีคุณภาพดี แต่ในบางครั้งผู้ปลูกองุ่น ก็จำเป็นต้องเก็บผลองุ่นที่จะแก่จัดด้วยเหตุหลายประการ เช่น ฝนตกขณะผลกำลังแก่จัดจะทำให้ผลแตกเสียหายมาก โดยเฉพาะพันธุ์คาร์ดินังล และเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ในภาวะที่องุ่นขาดตลาด พ่อค้าจะเป็นคนกำหนดให้เก็บผลองุ่นตามเวลาที่เขาต้องการ ถึงแม้ว่าผลองุ่นจะยังไม่แก่จัดก็ตาม 

การห่อผลและเก็บเกี่ยวผลองุ่น

การห่อผลและเก็บเกี่ยวผลองุ่น

การห่อผลองุ่น

ในการปลูกองุ่นหลังจากที่เกษตรกรตัดแต่งผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ควรห่อผลองุ่นเพื่อป้องกันแมลงเข้าทำลาย เช่น แมลงวันทอง เพลี้ยแป้ง อีกทั้งยังทำให้ผลองุ่นผิวสวยลูกโตกว่าปกติ และยังช่วยป้องกันความเสียหายจากเส้นผมของผู้ปฏิบัติงานไปโดนผลองุ่นอีกด้วย

วัสดุห่อผลองุ่น

วัสดุที่ใช้ห่อผลองุ่นอาจทำเอง โดยใช้กระดาษ เช่น กระดาษกระสอบปูน ซึ่งทนต่อน้ำฝน ไม่ค่อยเปียกน้ำและเมื่อถูกน้ำจะแห้งเร็ว ทำให้ไม่ฉีกขาดง่าย แต่ถ้าใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ จะใช้ได้ไม่นานเพราะกระดาษหนังสือพิมพ์เมื่อโดนน้ำแล้วจะซับน้ำและเปื่อยยุ่ยได้ง่าย หรืออาจจะซื้อวัสดุห่อผลองุ่นแบบสำเร็จรูปก็ได้ เพราะในปัจจุบันจะมีบริษัทผลิตและจำหน่ายอยู่ทั่วไป แต่ก่อนห่อผลจะต้องฉีดพ่นสารกันเชื้อรา (แนะนำให้ใช้สารชีวภาพที่สกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ) ก่อน หรือใช้วิธีการจุ่มช่อผล เหมือนกับการจุ่มฮอร์โมนยืดช่อดอกก็ได้ เพื่อป้องกันโรคผลเน่าที่เกิดจากเชื้อราเข้าทำลาย

การห่อผลองุ่น
การเก็บเกี่ยวผลผลิตองุ่น

การเก็บเกี่ยวผลองุ่นเป็นขั้นตอนที่สำคัญตอนหนึ่ง เพราะองุ่นเป็นผลไม้บ่มไว้ไม่ได้ กล่าวคือ เมื่อเก็บมาจากต้นเป็นอย่างไรก็จะยังคงสภาพอยู่อย่างนั้น องุ่นจะไม่หวานขึ้น และจะไม่สุกมากกว่านี้อีกแล้ว การเก็บผลองุ่นจึงต้องเก็บในช่วงที่ผลแก่เต็มที่ และไม่แก่จนเกินไป ผลองุ่นที่ยังไม่แก่เต็มที่จะมีรสรสฝาด เปรี้ยว สีไม่สวย คุณภาพของผลไม่ดี ส่วนผลองุ่นที่แก่เกินไปจะหวานจัดเกินไป เน่าเสียง่าย เก็บไว้ไม่ได้นาน ผลหลุดร่วงง่าย เป็นต้น

การปลูก การขยายพันธุ์องุ่น

การขายพันธุ์องุ่น

ขยายพันธุ์องุ่น

องุ่นจัดว่าเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วและง่าย และยังสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น

- การตอน

การตอนกิ่งองุ่น เป็นวิธีการที่ชาวสวนองุ่นนิยมทำกันมากอีกวิธีหนึ่ง เพราะสะดวก รวดเร็ว และได้องุ่นตรงตามสายพันธุ์ กิ่งที่ใช้ตอนนั้นควรเป็นกิ่งที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป กิ่งที่เหมาะสมในการตอนควรมีอายุประมาณ 3 เดือน ควรเลือกกิ่งที่สมบูรณ์ขนาดเท่าแท่งดินสอ ปราศจากโรคและแมลงในกิ่งเดียวกันสามารถตอนได้หลายช่วง โดยแต่ละช่วงมีประมาณ 3 - 4 ข้อ

- การปักชำ


การปักชำกิ่งองุ่น เป็นวิธีการที่ง่ายและเหมาะสมวิธีหนึ่ง กิ่งที่ใช้ปักชำควรเป็นกิ่งที่มีอายุประมาณ 7-12 เดือน กิ่งที่แก่หรืออ่อนเกินไปจะออกรากไม่ค่อยดี ควรเลือกกิ่งขนาดไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป มีข้อถี่ๆ และมีตาโปนเห็นเด่นชัด เวลาปักชำให้ตัดกิ่งองุ่นเป็นท่อนๆ ยาว 15 - 20 เซนติเมตร หรือมีข้อประมาณ 4 - 5 ข้อ นิยมปักชำลงในกระบะทรายผสมขี้เถ้าแกลบ (อัตราส่วน 1 : 1) ก่อน ถ้ามีฮอร์โมนช่วยในการเร่งราก ควรนำกิ่งปักชำมาจุ่มเสียก่อน จะช่วยให้ออกรากได้มากและแข็งแรงแล้วจึงปักชำในวัสดุที่เตรียมไว้ลึก 1 ใน 3 ของกิ่ง รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ หลังจากการปักชำแล้วประมาณ 15 - 20 วัน กิ่งที่ปักชำจะเริ่มแตกรากและแตกใบอ่อน เมื่ออายุประมาณ 1 เดือนก็นำลงปลูกได้ และนอกจากการปักชำในกระบะแล้ว ใต้ต้นองุ่นในแปลงปลูกมีร่มรำไร ก็สามารถปรับปรุงใช้เป็นแปลงปักชำกิ่งองุ่นได้ดีเช่นเดียวกัน

สายพันธุ์องุ่นที่นิยมปลูก

สายพันธุ์องุ่นที่นิยมปลูก

สายพันธุ์องุ่น
สายพันธุ์องุ่นหลักๆ ที่นิยมปลูกกันมาก มีอยู่สองพันธุ์ คือ


1. องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา

องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา เป็นพันธุ์องุ่นที่นิยมปลูกเพื่อเป็นการค้ามากที่สุด และในปัจจุบันองุ่นสายพันธุ์นี้ยังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคโดยทั่วไป ปลูกง่ายและเจริญเติบโตดี มี 2 ชนิด คือ ชนิดผลกลมและผลยาว มีลักษณะช่อที่ใหญ่ยาว การติดผลดี ผลองุ่นที่ได้จะมีสีเหลืองอมเขียว รสหวาน เปลือกหนาและเหนียว ในผลหนึ่งๆ มี 1-2 เมล็ด ช่วงเวลาหลังจากตัดแต่งกิ่งจนเก็บผลได้ จะใช้วเวลาประมาณ 4 เดือนครึ่ง ในเวลาหนึ่งปีให้ผลผลิต 2 ครั้ง และในการเก็บผลผลิตแต่ละครั้ง จะได้ผลผลิตประมาณ 10-15 กิโลกรัม/ต้น ปัจจุบันชาวสวนได้หันมาปลูกองุ่นพันธุ์ไวท์มะละกาสายพันธุ์ผลยาวกันมากขึ้น เพราะมีรสหวานกรอบและสีเหลืองสดใสกว่าองุ่นพันธุ์ผลกลม

สายพันธุ์องุ่น
2. องุ่นพันธุ์คาร์ดินัล


องุ่นพันธุ์คาร์ดินัล เป็นองุ่นที่ปลูกง่าย มีการเจริญเติบโตดีมาก มีลักษณะช่อใหญ่ ผลกลมค่อนข้างใหญ่ ผลดก ผลมีสีแดงหรือม่วงดำ รสหวาน กรอบ เปลือกบาง จึงทำให้ผลแตกง่ายเมื่อผลแก่ในช่วงฝนตกชุก ในผลหนึ่งๆ มีเมล็ด 1-2 เมล็ด ช่วงเวลาหลังจากตัดแต่งกิ่งจนเก็บผลได้จะใช้เวลาประมาณ 3 - 3 เดือนครึ่ง ในเวลา 2 ปี สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 5 ครั้ง และในการเก็บผลผลิตแต่ละครั้ง จะให้ผลผลิตประมาณ 10 - 15 กิโลกรัม/ต้น แต่องุ่นสายพันธุ์นี้ราคาค่อนข้างถูก ปัจจุบันจึงไม่เป็นที่นิยมปลูกกันเท่าใดนัก

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกองุ่น

สภาพแวดล้อมในการปลูกองุ่น

องุ่น
องุ่นเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อย และมีราคาแพงเป็นที่นิยมรับประทานกันอย่างมาก และเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ในดินทั่วไปที่มีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ ดินที่เหมาะสำหรับปลูกองุ่นได้ผลดีนั้น มักเป็นดินเหนียวที่มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีหน้าดินลึกสภาพความเป็นกรด - ด่าง (PH) อยู่ระหว่าง 5.6 - 6.4 และมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการขององุ่นได้ แต่ก็ต้องเป็นบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึง เพราะถ้าองุ่นถูกน้ำท่วมขังเพียง 2 วันก็จะตาย และต้องไม่เป็นพื้นที่ที่น้ำทะเลท่วมถึงเพราะจะทำให้ต้นองุ่นได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน


ตามธรรมชาติขององุ่นแล้ว ไม่ใช่พืชเขตร้อน แต่องุ่นก็สามารถเจริญเติบโตจากสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างประเทศไทยได้เป็นอย่างดี จึงปลูกได้โดยทั่วไป หากได้รับการตัดแต่งกิ่งการดูแลที่เหมาะสม ก็สามารถออกดอกออกผลได้ดีเช่นเดียวกันกับองุ่นที่ปลูกในเขตหนาว อีกทั้งยังสามารถให้ผลผลิตมากกว่า 1 ครั้งต่อปี และสามารถบังคับให้ผลองุ่นออกดอกออกผลนอกฤดูกาลก็ยังได้ ในขณะที่องุ่นที่ปลูกในเขตหนาวให้ผลผลิตเพียงปีละครั้ง และผลองุ่นจะแก่เฉพาะในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ฝนตกชุกจะทำให้เกิดโรคระบาดอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความเสียหายแก่ใบ ต้น และผลองุ่นได้มาก จึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันกำจัดโรคแมลงมาก ไม่คุ้มกับการลงทุน แต่ถ้าฝนตกในตอนผลองุ่นแก่ก็จะทำให้ผลแตก คุณภาพของผลองุ่นจะไม่ดี ดังนั้นสภาพภูมิอากาศจึงเป็นตัวจำกัดขอบเขตของการปลูกองุ่นโดยทั่วไป เช่น ในประเทศไทยสามารถปลูกองุ่นเพื่อรับประทานผลสดได้ดี โดยเฉพาะองุ่นที่แก่ในฤดูร้อน และฤดูหนาว แต่การที่จะปลูกองุ่นสำหรับทำเหล้าองุ่นหรือหมักทำไวน์ให้มีคุณภาพดีๆ นั้น เรายังสู้องุ่นในแถบยุโรปไม่ได้ ซึ่งสภาพภูมิอากาศจะมีผลต่อคุณภาพของผลผลิตองุ่นค่อนข้างมา แต่สำหรับการเจริญเติบโตจะไม่ค่อยมีผลกระทบเท่าใดนัก นอกจากเขตที่มีอากาศร้อนจัดหรือหนาวจัดเกินไปต้นองุ่นอาจตายได้ จะเห็นว่าเขตปลูกองุ่นของโลกนั้นกว้างมาก สามารถปลูกได้ในพื้นที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงระดับความสูง 6,000 ฟุต แต่แหล่งปลูกองุ่นที่มีคุณภาพดีมักอยู่ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 - 4,000 ฟุต

ประวิติความเป็นมาขององุ่น

ประวิติความเป็นมาขององุ่น

องุ่น
องุ่นเป็นผลไม้ที่ปลูกกันมานานกว่า 5,000 ปี และเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดี สามารถเจริญเติบโตได้ดีทั้งในเขตหนาว หรือเขตกึ่งร้อนกึ่งหนาว และองุ่นยังปลูกได้ในเขตร้อน สำหรับประเทศไทยยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่านำเข้ามาปลูกในสมัยใด แต่จากหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่พอจะเชื่อได้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านได้นำพันธุ์ไม้แปลกๆ จากต่างประเทศที่ได้เสด็จประพาสมาปลูกในประเทศไทย และเชื่อว่าในจำนวนพันธุ์ไม้แปลกๆ เหล่านั้น น่าจะมีพันธุ์องุ่นรวมอยู่ด้วย ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 7 มีหลักฐานยืนยันว่า เริ่มมีการปลูกองุ่นกันบ้างแล้ว แต่ผลองุ่นที่ได้จะมีรสเปรี้ยวไม่อร่อย การปลูกองุ่นในสมัยนั้นจึงไม่เป็นที่นิยมกันเท่าใดนัก ต่อมาในปี 2493 ได้เริ่มมีการปลูกองุ่นอย่างจริงจัง โดยหลวงสมานวนกิจ ได้นำพันธุ์องุ่นมาจากรัฐแคลิฟอร์เนียประเทศสหรัฐอเมริกา และในปี 2497 ดร.พิศ ปัญญาลักษณ์ ได้นำพันธุ์องุ่นมาจากยุโรป ซึ่งปลูกได้ผลเป็นที่น่าพอใจแถมยังได้องุ่นที่มีรสชาติดี นับแต่นั้นมาการปลูกองุ่นในประเทศไทยจึงเป็นที่นิยมและแพร่หลายมากขึ้น

การปลูกองุ่นในประเทศไทย
การปลูกองุ่นในประเทศไทย

องุ่น

ปัจจุบันในประเทศไทยมีการปลูกองุ่นในแถบภาคตะวันตก เช่น อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งสามารถให้ผลผลิตได้ดี แต่เกษตรกรบางรายได้เปลี่ยนจากการปลูกองุ่นเป็นพืชอื่น เนื่องจากมีอุปสรรคในเรื่องของโรคแมลงที่ระบาดมาก อีกทั้งแมลงหรือศัตรูองุ่นบางชนิดยังดื้อยาไม่สามารถกำจัดได้ ทำให้พื้นที่ปลูกองุ่นในแถบนี้ลดลงไปบ้าง ซึ่งในเวลาต่อมาพื้นที่ปลูกองุ่นได้ขยายไปในแถบภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบ้างเล็กน้อย ถึงแม้ว่าราคาจะแพงและเป็นแรงจูงใจอย่างดี แต่ปัญหาเรื่องโรคแมลงระบาดมากทำให้พื้นที่ปลูกองุ่นไม่ค่อยขยายเท่าที่ควร