วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การพักตัวของต้นองุ่น

การพักตัวของต้นองุ่น

การพักตัวขององุ่น ช่วยเพิ่มผลผลิต

หลังจากที่เกษตรกรผู้ปลูกองุ่น ทำการเก็บเกี่ยวผลองุ่นหมดทั้งแปลงแล้ว จะต้องปล่อยให้ต้นองุ่นพักตัวระยะหนึ่งก่อน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน เพื่อให้ต้นองุ่นได้สะสมธาตุอาหารต่างๆ ไว้ในต้น เพื่อกักตุนไว้ใช้สำหรับออกดอกและผลิตผลในครั้งต่อไป และในช่วงที่ต้นองุ่นพักตัวอยู่นั้น ผู้ปลูกไม่จำเป็นต้องทำอะไรมากนัก เพียงให้น้ำเป็นครั้งคราวเพื่อไม่ให้ดินแห้งเกินไปก็พอ การพักตัวของต้นองุ่นนับว่าเป็นช่วงที่สำคัญซึ่งจะมีผลต่อการออกดอกในครั้งต่อไปมาก ถ้าให้ต้นพักตัวน้อยหรือในช่วงเวลาที่สั้นๆ ผลผลิตครั้งต่อไปก็จะน้อยลงตามไปด้วย อีกทั้งต้นองุ่นก็จะโทรมเร็วอีกด้วย ระยะเวลาในการพักตัวก็แตกต่างกันออกไปตามพันธุ์ เช่น องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา ควรให้พักตัว 1 - 2 เดือน ส่วนองุ่นพันธุ์คาร์ดินัลให้พักตัวน้อยกว่านี้ได้ แต่ไม่ควรต่ำกว่า 15 - 20 วัน เป็นต้น และเมื่อต้นองุ่นได้พักตัวเต็มที่จะสังเกตได้จากกิ่งองุ่นช่วงสุดท้าย (คือช่วงที่ตัดผลออกไปแล้ว) เป็นสีน้ำตาลใบแก่จัด ใบกรอบก็สามารถตัดแต่งครั้งต่อไปหรือที่เรียกว่า " มีดสอง " ได้อีก โดยก่อนการตัดแต่งให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับครั้งแรก หรือ " มีดแรก " คืองดให้น้ำอย่างน้อย 7 วัน แล้วจึงตัดแต่งกิ่ง หลังจากนั้นก็รดน้ำ ให้ปุ๋ย เช่นเดียวกับครั้งแรก โดยให้ปุ๋ยเพิ่มมากขึ้น เพราะต้นองุ่นจะเจริญเติบโตขึ้นทุกปี ในการตัดแต่งครั้งต่อไปก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน หมุนเวียนอยู่เช่นนี้ตลอดไป

ตัดแต่งองุ่นควบคุมการออกผล


จะเห็นว่าจุดสำคัญที่จะทำให้องุ่นออกดอก คือ การพักตัวของต้นและการตัดแต่งกิ่ง ดังนั้น จึงสามารถคำนวณระยะเวลาให้องุ่นออกดอกตอนไหนก็ได้ หรือจะให้ผลแก่ช่วงไหนก็ได้แล้วแต่ความต้องการของผู้ปลูก จึงทำให้มีองุ่นขายในท้องตลาดตลอดทั้งปี ผู้ปลูกองุ่นหลายรายเจาะจงที่จะให้องุ่นของตนแก่และเก็บเกี่ยวผลได้ในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น ปีใหม่ตรุษจีน เป็นต้น ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดต้องการองุ่นมากทำให้ได้ราคาดี แต่ก็มีหลายรายที่พ่อค้าจะเป็นผู้กำหนดว่าสวนใครควรจะตัดแต่งช่วงไหนเพื่อให้พ่อค้าประจำมีองุ่นส่งตลาดได้ทั้งปี จะเห็นว่าการที่สามารถบังคับให้องุ่นออกผลตามที่ต้องการเป็นข้อได้เปรียบในเชิงการค้าประการหนึ่ง ซึ่งการปลูกในเขตเมืองหนาวไม่สามารถทำเช่นนี้ได้